เปิด "ตำราอาหาร" ได้ที่นี่

 

food story

10 เมนูอาหารเมียนมาน่าลอง

Story by เสาวลักษณ์ เชื้อคำ

ชวนรู้จักอาหารจานเด็ดของบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างเมียนมา ลองแล้วจะติดใจ

เมียนมา (พม่า) เป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทยยาวกว่า 2,400 กิโลเมตร ถือว่าเป็นประเทศที่มีเขตแดนทางบกติดกับประเทศไทยมากที่สุด แต่ไหนแต่ไรมา วัฒนธรรมไทย-เมียนมา จึงข้ามไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความคิดความเชื่อ การโยกย้ายของกลุ่มชาติพันธุ์ ศิลปะ วัฒนธรรม รวมถึงเรื่องอาหารการกินซึ่งปรากฏหลักฐานความเชื่อมโยงเป็นอาหารท้องถิ่นหลายตำรับ โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันตกบางจังหวัดที่มีประวัติการติดต่อค้าขายรวมถึงการอพยบของคนจากทั้ง 2 แผ่นดินมาเสมอ

 

 

 

 

ความใกล้ชิดนี้เองบางครั้งเป็นเหมือนดาบสองคม เพราะในขณะที่คนทั้ง 2 ประเทศติดต่อค้าขายกันอยู่ตลอด แต่เรากลับมองข้ามความรุ่มรวยงดงามทางวัฒนธรรมไปอย่างน่าเสียดาย โดยเฉพาะวัฒนธรรมอาหารเมียนมาที่ทั้งหลากหลาย อร่อย และน่าตื่นเต้น เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ต้องยอมรับว่า คนไทยส่วนใหญ่รู้จักอาหารเมียนมาน้อยกว่าที่รู้จักอาหารญี่ปุ่นหรืออาหารฝรั่งเสียอีก ทั้งที่วัฒนธรรมอาหารเมียนมาอยู่ใกล้เราเพียงแค่สายน้ำคั่นเท่านั้น

 

 

 

 

ว่ามาเสียขนาดนี้แล้ว ฉันก็ขอชวนทุกคนมาทำความรู้จักอาหารเมียนมาน่าลอง 10 เมนู ที่รับรองว่ากินง่าย รสถูกปากคนไทย เหมาะกับคนที่อยากเริ่มต้นรู้จักอาหารเมียนมา รับรองว่ากินแล้วจะติดใจจนต้องมองหาเมนูอื่นๆ ต่อแน่นอนค่ะ

 

 

 

 

 

 

 

 

โมฮิงกา (မုန့်ဟင်းခါး / Mohinga / โมฮินกา )

 

 

 

 

โมฮิงกาถือเป็นอาหารประจำชาติของเมียนมา เพราะเป็นที่นิยมอย่างมากในทุกชนชั้นและทุกภูมิภาค โมฮิงกามีโครงสร้างคล้ายขนมจีนน้ำยาปลา แต่รสชาติอ่อนกว่า มีกลิ่นหอมของตะไคร้ หอมแดง กระเทียม ขิง และขมิ้น ที่สำคัญคือต้องใส่หยวกกล้วยซอยบางๆ และแป้งถั่วลูกไก่ เพื่อให้น้ำยามีความเข้มข้นขึ้น

 

 

 

 

โมฮิงกามักเสิร์ฟคู่กับลูกชิ้นปลาทอด ถั่วทอดแพ ไข่ต้ม อีจาโก้ยหรือปาท่องโก๋ โดยหน้าด้วยถั่วฝักยาวและผักชี มักปรุงให้รสกลมกล่อม ไม่จัด อาจเพราะว่านิยมกันกันเป็นอาหารเช้า แต่หากต้องการเพิ่มรสชาติก็สามารถปรุงด้วยมะนาวและพริกป่นได้เช่นกัน

 

 

 

 

นานจีโตะ (နန်းကြီးသုပ်‌ / Nan Gyi Thoke / นาน จี โตะ)

 

 

 

 

คำว่า ‘โตะ’ (Thoke) หมายถึงการยำหรือขยำรวมกัน ส่วน ‘นานจี’ เป็นชื่อเส้นอย่างหนึ่งที่อวบกลม นุ่มเด้งคล้ายเส้นอุด้งหรือขนมจีนไหหลำ นานจีโตะจึงหมายถึงเมนูยำเส้นนานจีกับเครื่อง ไข่ต้ม เนื้อไก่ฉีก และเครื่องทอดกรอบต่างๆ เพิ่มความนัวด้วยแป้งถั่วลูกไก่ และมีกลิ่นหอมของมาซาล่า ให้รสกลมกล่อม เส้นเคี้ยวเพลิน ส่วนใหญ่จะเสิร์ฟพร้อมกับซุปใสซึ่งมักจะเป็นซุปปลาไว้ซดให้คล่องคอ

 

 

 

 

ขนมจีนยะไข่ (ရခိုင်မုန့်တီ / Rakhine Mont Di / ยะไข่ โมนตี้)

 

 

 

 

ขนมจีนยะไข่ หรือยะไข่โมนตี้ เป็นอาหารจานเด็ดจากรัฐยะไข่ มีจุดเด่นที่ความรสจัดแซ่บซุยตามฉบับของเมืองทางภาคตะวันตก โครงสร้างเรียบง่ายไม่ซับซ้อน คือเป็นขนมจีนที่ปรุงด้วยน้ำพริกปลาเผ็ด เปรี้ยว เค็ม ครบรส กับน้ำซุปใสที่หอมกลิ่นปลาและสมุนไพร จะเสิร์ฟเป็นยำขนมจีน แยกถ้วยกับน้ำซุป หรือจะราดน้ำลงไปเป็นขนมจีนน้ำซุปใสรสจัดก็ได้ อย่าลืมราดน้ำมันหอมเจียวลงไปด้วยซักครึ่งช้อนจะช่วยเพิ่มกลิ่นหอมให้มีมิติมากขึ้นค่ะ

 

 

 

 

ก๋วยเตี๋ยวฉาน (ရှမ်းခေါက်ဆွဲ/ Shan Khauk Swe / ฉาน เคาะ-ซเว)

 

 

 

 

เมนูขึ้นชื่อจากรัฐฉานซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเมียนมา ติดกับประเทศไทย จึงเป็นอิทธิพลทางอาหารที่ปรากฏในบางเมนูของพื้นที่ชายแดนภาคเหนือในไทยด้วย ก๋วยเตี๋ยวฉานมีลักษณะเด่นคือเส้นที่เหนียวนุ่ม ราดด้วยน้ำซุปใสที่เคี่ยวจากกระดูกหมู ใส่หมูสับผัดกับมะเขือเทศ ถั่วเน่า และเครื่องเทศต่างๆ มีทั้งแบบน้ำและแบบแห้งที่เสิร์ฟพร้อมน้ำซุป (เรียกว่า ‘ฉาน เคาะ-ซเว โท’) นิยมกินคู่กับเต้าหู้ถั่วลูกไก่แบบฉาน

 

 

 

 

ก๋วยเตี๋ยวแกงกะทิ (အုန်းနို့ခေါက်ဆွဲ / Ohn-no Khauk Swe / โหนโนะ เคาะ-ซเว)

 

 

 

 

เป็นก๋วยเตี๋ยวเส้นแบนในน้ำซุปกะทิรสชาติเข้มข้น มีอิทธิพลมาจากอาหารมาเลเซียและอินเดียอย่างเห็นได้ชัด น้ำซุปกะทิปรุงรสด้วยผงเครื่องเทศ หอมแดง กระเทียม ขิง ตะไคร้ มักใส่คือเนื้อไก่หรือเนื้อวัวที่เคี่ยวจนนุ่ม โรยหน้าด้วยหอมเจียว ผักชี พริกป่น และอาจมีไข่ต้มหรือมะนาวให้บีบเพิ่มรสชาติ

 

 

 

 

ข้าวห่อใบตอง (ဖက်ထမင်း / Phet Htamin / แพะ ทะมิน)

 

 

 

 

ข้าวสวยที่ห่อด้วยใบตองแล้วนำไปนึ่งหรือย่างจนมีกลิ่นหอม ข้าวนุ่ม ใส่เครื่องที่เป็นเนื้อไก่ หมู ถั่ว ผักสด และผักที่ปรุงรสหรือดองมาแล้ว พบได้บ่อยๆ ตามร้านข้างทางและงานบุญต่างๆ เพราะเป็นอาหารจานเดียวที่สะดวก เรียบง่าย แต่ครบรส อร่อย และมีเสน่ห์มากๆ ค่ะ

 

 

 

 

ข้าวหมก (ဒံပေါက် / Danpauk / ดันเป้า)

 

 

 

 

ข้าวหมกอย่างเมียนมาเป็นอาหารที่ได้รับอิทธิพลมาจากข้าวหมกบริยานีของอินเดีย แต่ก็มีการปรับปรุงรสชาติและส่วนผสมให้เข้ากับความนิยมของคนท้องถิ่น ส่วนใหญ่มักหมกกับเนื้อไก่ แพะ หรือวัว หอมกลิ่นครื่องเทศนานาชนิด เช่น ขมิ้น ลูกผักชี ยี่หร่า กานพลู ใบกระวาน และอบเชย มักเสิร์ฟกับผักดอง น้ำพริกปาลาฉ่อง และซุปใสรสเปรี้ยวสดชื่น

 

 

 

 

ยำใบชา (လက်ဖက်သုပ် / Laphet Thoke / ละแพ โตะ)

 

 

 

 

อาหารประจำชาติอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ลองไม่ได้ ใบชาที่นำมายำนั้นเป็นใบชาหมักที่เรียกว่าละแพ กลิ่นหอม และมีรสเปรี้ยวเจือด้วยขมฝาดอ่อนๆ อย่างเป็นเอกลักษณ์ ยำกับเครื่องกรอบเช่น ถั่วทอดหรือถั่วคั่ว หอมเจียว กระเทียมเจียว งาขาวคั่ว และกุ้งแห้งตัวเล็กทอดกรอบเพิ่มความอูมามิ เพิ่มความสดชื่นด้วยผักสดหั่นบางหรือหั่นเป็นเส้นละเอียด เช่น กะหล่ำ มะเขือเทศ พริก กระเทียม

 

 

 

 

ยำใบชาเป็นอาหารที่กินได้ทุกวาระและโอกาส ไม่ว่าจะเสิร์ฟเป็นอาหารว่างกินเล่น รับแขก หรือกินเป็นกับแกล้มก็ได้ ทั้งยังกินกันทุกชนชั้น ยำใบชาจึงมีทั้งแบบที่เป็นสตรีทฟู้ดราคาสบายกระเป๋า และเป็นอาหารขึ้นห้างที่ละเมียดละไมด้วยการคัดเลือกยอดชาชั้นดีมาหมักด้วยน้ำมันราคาแพงด้วยเช่นกัน

 

 

 

 

ของทอดรวม (အကြော်စုံ / A Kyaw Sone / อะ จอ โส่ง)

 

 

 

 

ของทอดเป็นอาหารว่างที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในเมียนมา เรียกได้ว่าเราจะสามารถหาซื้ออะจอโส่งได้ทุกหัวถนน แต่ละร้านมักจะมีของทอดให้เลือกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ถั่วลูกไก่ทอด (เปมอง) เต้าหู้ทอด (โต่ฟูจ่อ) ผักรวมชุบแป้งทอด (อะจ่อ) ปาท่องโก๋ (อีจาโก้ย) ซาโมซา (ซามูซา) มักกินคู่กับน้ำจิ้มรสหวานอมเปรี้ยว หรือจิ้มกับซอสพริกเพื่อตัดเลี่ยน

 

 

 

 

ชานม (လက်ဖက်ရည်ချို / Laphet Yay Cho ละแพะ เหย่ โช)

 

 

 

 

ชานมเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมอันดับหนึ่งในวัฒนธรรมเมียนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในร้านน้ำชา ซึ่งเป็นสถานที่พบปะสังสรรค์ของผู้คน ชานมของเมียนมามีลักษณะเด่นคือการชงชาดำที่เข้มข้น ผสมกับนมข้นหวานและนมข้นจืดทำให้มีรสชาติหวานมัน กลมกล่อม ดั้งเดิมมักดื่มแบบร้อนๆ แต่ปัจจุบันมีการเสิร์ฟแบบใส่น้ำแข็งเพิ่มความสดชื่นตามสมัยนิยมด้วยเช่นกัน คนเมียนมาดื่มน้ำชากันทั้งวัน ไม่ว่าจะเป็นการดื่มคู่กับอาหารเช้า อาหารว่าง ดับกระหาย หรือกระทั่งดื่มแก้เบื่อ ร้านน้ำชาในเมียนมาจึงเป็นมากกว่าร้านขายเครื่องดื่ม แต่เป็นศูนย์กลางทางสังคมที่ผู้คนมาพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงเป็นพื้นที่สังสรรค์ของผู้คนด้วย

 

 

 

 

ภาพประกอบโดย นภสร คำโคม

Share this content

Contributor

Tags:

อาหารเมียนมา

Recommended Articles

Food Storyอาหาร การเมือง เรื่องเมียนมา กับ ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์
อาหาร การเมือง เรื่องเมียนมา กับ ผศ.ดร.ลลิตา หาญวงษ์

การอพพบระลอกใหม่ กับความเปลี่ยนแปลงของอาหารเมียนมาในประเทศไทย